Toey^^

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

แนะผู้สูงอายุ ขับรถอย่างปลอดภัย




แนะผู้สูงอายุขับรถอย่างปลอดภัย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยง การขับรถตามลำพัง เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง และหากประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 9 เท่า พร้อมแนะให้ ตรวจสอบสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนเดินทาง ถ้ามีปัญหาทางสายตาให้เลี่ยงการขับรถในช่วงโพล้เพล้ เวลากลางคืน และช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี

ส่วนผู้สูงอายุที่มีปัญหากำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ควรขับรถในระยะทางไกลเป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถและความรวดเร็วในการแก้ไขสถานการณ์ฉุก เฉิน

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า แม้ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนน้อย กว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากขับรถช้ากว่าและมีประสบการณ์ในการขับรถมายาวนาน แต่ด้วยสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรง และมีโรคประจำตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง โดยเฉพาะหากประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 9 เท่า

ดัง นั้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนให้ผู้สูงอายุเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนขับรถ โดยปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินการมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อแขน ขา การตอบสนองของระบบประสาท รวมถึงกระดูกข้อต่อต่าง ๆ หาก มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการขับรถตามลำพัง หากจำเป็นให้นำยารักษาโรค บัตรบันทึกประวัติของโรค และบัตรประจำตัวผู้ป่วยติดตัวมาด้วยเสมอ เพราะอาจเกิดอันตรายในขณะขับขี่ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว 8 โรคเสี่ยง ดังนี้

โรคเกี่ยวกับสายตา เช่น จอประสาทตาเสื่อม ให้หลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงโพล้เพล้หรือตอนกลางคืน ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน จะมีลานสายตาแคบ มองเห็นเส้นทางด้านข้างไม่ชัดเจน และเห็นแสงไฟพร่ามัว ไม่ควรขับรถในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี เพราะจะทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางลดลง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง

โรคข้อเสื่อม ไม่ควรขับรถระยะทางไกลเป็นเวลานาน หรือในช่วงที่การจราจรติดขัด เพราะจะอ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรงเหยียบเบรค หรือคันเร่ง รวมถึงขาดกำลังแขนในการบังคับพวงมาลัย และเปลี่ยนเกียร์ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถและความรวดเร็วในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

โรคสมองเสื่อม อาจมีอาการหลงลืมเส้นทาง ทำให้หลงทาง รวมถึงส่งผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง

โรคอัมพฤกษ์ ทำให้แขนขาไม่มีแรงเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรค และเปลี่ยนเกียร์

โรคพาร์กินสัน มีอาการมือเท้าสั่น และเกร็ง จึงขับรถได้ไม่ดีนัก

โรคลมชัก อาจะมีอาการกระตุก โดยไม่รู้ตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่สูง

โรคหัวใจ หากต้องขับรถในช่วงการจราจรติดขัด จะทำให้เกิดอาการเครียดจนโรคกำเริบมากขึ้น

โรคเบาหวาน ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ จะหน้ามืด สายตาพร่ามัว และหมดสติ ทำให้เกิดอันตรายได้

ที่สำคัญ ผู้สูงอายุควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพราะแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย อาจทำให้กระดูกแตกหักได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรหาเพื่อนร่วมทางในขณะขับรถ จะได้ช่วยกันดูเส้นทาง สัญญาณไฟจราจรและสภาพแวดล้อมโดยรอบ

ที่มา http://hilight.kapook.com/view/51749

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น