Toey^^

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จริงหรือที่อายุมีผลต่อการดื่มนม?

ขณะที่สังคมพยายามกระตุ้นให้คนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนหันมาดื่มนมแทนน้ำเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

แต่ในโลกที่กอปรขึ้นด้วยความรู้จากหลากหลายสาขา ก็ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า การไม่ดื่มนมหรืออาหารบางชนิดที่ผลิตจากนมวัวมิได้เป็นสาเหตุทำให้กระดูกของเราเสื่อม หรือความรู้ความเข้าใจที่ว่านมถั่วเหลืองไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก กระทั่งว่า
"จริงหรือที่อายุมีผลต่อการดื่มนม?"

สำหรับชมรมคนรักนมคงสับสนไม่น้อย และอยากทราบถึงข้อเท็จจริงของน้ำสีขาวนวลชนิดนี้ว่า จริงๆ แล้ว คุณค่าและประโยชน์ที่พูดๆ กันนั้นเป็นบวกหรือลบกันแน่

"นมวัวมีไว้สำหรับลูกวัวตัวน้อย ไม่มีสัตว์ป่าชนิดไหนที่กลับมาดื่มนมอีกหลังจากหย่านมแล้ว รวมทั้งกินนมข้ามสายพันธุ์ นมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวต่างสร้างปัญหาให้กับการทำงานของกระดูกแขนขา

ระบบเลือดและตับ ปวดไมเกรน หรือเจ็บป่วยเนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันสูง และโรคอ้วนที่พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน..."
นี่เป็นตัวอย่างด้านลบ

ข้อมูลดังกล่าวยังคงเป็นข้อถกเถียงกันไม่รู้จบ จนกระทั่งผู้คนหันมาสนใจเรื่องไอคิวของเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่มากขึ้น ซึ่งคนรุ่นหลังเปลี่ยนมาเลี้ยงลูกด้วยนมและเนยจากแพะ รวมทั้งนิยมดื่มนมถั่วเหลืองในยุคของอาหารชีวจิต เลี่ยงการดื่มนมสดที่ยังไม่แน่ใจเรื่องโทษและประโยชน์

หนึ่งในข้อมูลที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับนม คือ น้ำตาลในนมทำให้ระคายท้องนั้น จริงๆ แล้ว 'น้ำตาลนม' เป็นคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลตามธรรมชาติที่พบในนมทุกชนิด หนึ่งในจำนวนนั้นประกอบด้วยน้ำตาลแล็กโทส (Lactose) ซึ่งนมจะมีน้ำตาลชนิดนี้มากกว่าน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น

โดยมีประมาณร้อยละ 6-7 ในน้ำนมแม่ และร้อยละ 5 ในน้ำนมวัว ความพิเศษของน้ำตาลแล็กโทสอยู่ที่ประกอบด้วยน้ำตาลชั้นเดียวสองโมเลกุลรวมกันคือ น้ำตาลกลูโคส และกาแล็กโทส น้ำตาลแล็กโทสจะมีความหวานมันน้อยกว่าน้ำตาลทราย เทียบได้ประมาณหนึ่งในหกของน้ำตาลทราย

โดยที่ร่างกายของคนเราโดยเฉพาะเด็กแรกเกิดจะมีน้ำย่อยที่เรียกว่าแล็กเทส (Lactase) อยู่ภายในลำไส้ ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลแล็กโทสเพื่อให้ร่างกายดึงน้ำตาลในนมไปใช้ได้ และโดยปกติระดับของน้ำย่อยแล็กเทสจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น

ส่วนผู้ใหญ่โดยเฉพาะชาวเอเชียที่ไม่มีนิสัยรักการดื่มนมเป็นประจำ ร่างกายก็จะเลิกสร้างหรือมีการสร้างน้ำตาลแล็กเทสลดลง ทำให้ผู้ใหญ่มักมีอาการผิดปกติเมื่อดื่มนมเข้าไป เช่น
อาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย หรือรุนแรงถึงขึ้นท้องร่วง เป็นต้น

อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายย่อยน้ำตาลแล็กโทสที่ไม่ผ่านกระบวนการย่อยถูกส่งไปยังลำไส้ ซึ่งแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะเป็นตัวย่อยสลายน้ำตาลแล็กโทสจนเกิดเป็นกรดและก๊าซขึ้น จนทำให้มีอาการผิดปกติ

ดังนั้นเราจึงควรรู้วิธีการดื่มนมเพื่อหลีกเลี่ยงการระคายท้องดังนี้

- เริ่มต้นดื่มนมในปริมาณน้อย เช่น เริ่มจากดื่มเศษ 1 ส่วน 4 แก้ว แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นครึ่งแก้ว จนสามารถดื่มได้วันละ 1 แก้ว ซึ่งจะใช้เวลาปรับตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ต้องอดทนหากมีอาการไม่มากนัก

- อย่าดื่มนมขณะท้องว่าง ควรดื่มนมหลังอาหารหรือหาอะไรรับประทานขณะดื่มนมจะช่วยได้มาก

- ถ้าใช้ทั้ง 2 วิธีดังกล่าวแล้วอาการยังคงรุนแรงอยู่ ควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตชนิดครีมแทน

- ถ้าไม่ได้ผลทั้ง 3 วิธี คงต้องหาแหล่งแคลเซียมอื่น ๆ ทดแทน อาทิเช่น ผักใบเขียว เต้าหู้แข็ง หรือปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งตัว

แต่ถ้าใครต้องการดื่มนมอย่างจริงๆ จังๆ ลองปฏิบัติเคล็ดลับการดื่มนมต่อไปนี้ เผื่อจะช่วยได้บ้าง

ถ้าเกิดอาการท้องอืด หรือท้องเสียทุกครั้งที่ดื่มนมเพราะแพ้น้ำตาลแล็กโทสในนม สามารถแก้ไขได้โดย 1. ดื่มนมทีละแก้ว 2. ดื่มนมหลังอาหาร 3. ดื่มนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ซึ่งวิธีที่ 1 และ 2 สามารถทดลองได้เลย

ส่วนวิธีที่ 3 ควรลองรับประทานโยเกิร์ตชนิดครีมก่อนแต่ถ้าต้องการแคลเซียมที่เท่ากับนม 1 แก้ว ต้องรับประทาน 2 ถ้วย และหากอาการยังไม่ดีขึ้นให้เปลี่ยนมารับประทานโยเกิร์ตชนิดดื่ม
ที่สำคัญต้องเลือกชนิดที่มีนมสดผสมอยู่มาก ๆ โดยอ่านจากฉลากก่อนทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นมเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพดีและมีแร่ธาตุแคลเซียม เด็กจึงควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ผู้ใหญ่ควรดื่มวันละ 1 แก้ว แต่ถ้ามีปัญหาไขมันสูงหรืออายุเกิน 40 ปี ควรดื่มนมพร่องมันเนย และผู้สูงอายุควรดื่มนมพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยวันละ 1 แก้ว

แต่ถ้าบ้านไหนชอบดื่มน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง โปรดรับรู้ว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก เนื่องจากแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของโรคแพ้อาหารมีมากขึ้น จึงทำให้ผู้คนตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว (อาหาร) จนก้าวเข้าสู่ยุคอาหารชีวจิตเพื่อสุขภาพและนิยมเลี้ยงเด็กแรกเกิดด้วยนมถั่วเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ

ยกเว้นในสหรัฐ ซึ่ง 15 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเด็กแรกเกิดไม่ดื่มนมถั่วเหลือง เพราะถึงแม้ว่าจะปลอดภัยจากอาการแพ้ แต่นมถั่วเหลืองมีปริมาณธาตุแคลเซียมและสารอาหารที่จะไปเลี้ยงฮอร์โมนเพศหญิง ไฟโต-เอสโตรเจน (Phyto-Estrogen) ต่ำกว่า

นอกจากนี้การที่เด็กแรกเกิดสามารถดื่มนมได้ปริมาณมากและเร็วกว่าผู้ใหญ่ชาวเอเชียหรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถึง 10 เท่านั้น จึงมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการศึกษาวิจัยขององค์การวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐ คาดว่าการบริโภคนมถั่วเหลืองจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องและความแข็งแรงของกระดูก

พื้นฐานความรู้ง่ายๆ เกี่ยวกับนมที่กล่าวมานี้ มีหลายคนที่มองข้ามไปเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้กัน แต่ถ้าลองเจาะถามภูมิกันเป็นรายตัว น้อยคนนักที่ดื่มอย่างรู้จริงและถูกวิธี

วันนี้จึงยังไม่สายที่จะถอยหลังกลับไปดื่มนมอย่างถูกสุขลักษณะ รับรองได้สุขภาพดีมาเป็นของแถมจริงๆ



ที่มา http://hilight.kapook.com/view/630

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น